top of page
Writer's pictureAOG Team

ฝุ่นพิษร้าย แท้จริงแล้วมาจากไหน?



ฝุ่นพิษ มลพิษร้าย อาจดูน้อยลงช่วงนี้ แต่จริง ๆ กลับมีเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างที่เราหลายคนทราบกันนะครับ

และสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงประเทศไทยอย่างเดียว หลายประเทศก็กำลังประสบปัญหาไม่ต่างกัน…


คุณรู้หรือไม่ว่า?


มนุษย์เรา 9 ใน 10 คนทั่วโลก กำลังหายใจเอาอากาศที่เป็นพิษเข้าร่างกายอยู่ตลอดเวลา

ค่ามลพิษทางอากาศที่สูงเกินมาตรฐานความปลอดภัยแทบทุกเมืองทั่วโลก โดยเฉพาะฝุ่นควันขนาดจิ๋ว PM10 และ PM2.5 ที่เราได้ยินกันตามข่าว จริง ๆ แล้วยังมีสารพิษอย่างอื่น เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2), ไฮโดรคาร์บอน, โลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ รวมไปถึงโอโซน (O3) ที่ช่วยปกป้องโลกบนชั้นบรรยากาศ แต่จริง ๆ แล้วเป็นพิษอย่างร้ายแรงหากลงมาอยู่ในอากาศที่เราหายใจด้วย


ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า มีคนกว่า 7 ล้านคน เสียชีวิตก่อนวัยจากมลพิษทางอากาศขนาดจิ๋วนี้ทุกปี

เนื่องจากขนาดที่เล็กกว่าเส้นผมถึง 20-30 เท่า ทำให้มันสามารถทะลุทะลวงเข้าไปถึงถุงลมในปอดและเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หน้ามืดหมดสติ สมองขาดเลือด มะเร็งปอด โรคปอดอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อในทางเดินหายใจ ปอดบวม และอื่น ๆ อีกมาก


ฝุ่นพิษร้ายมาจากไหน?


รัฐบาลและเทศบาลเมืองต่าง ๆ กำลังหาวิธีในการแก้ปัญหาและจัดการตลอดช่วงหลายปีมานี้

แต่ส่วนมากเป็นการออกกฎหมายหรือระเบียบใหม่กับภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น

ทว่า มลพิษทางอากาศอันดับหนึ่งกลับมาจาก “ครัวเรือน” หรือบ้านเรือนของพวกเราเองต่างหาก


การใช้เชื้อเพลิง น้ำมัน ถ่านหิน ถ่านไม้ แก๊สหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติ เพื่อการทำอาหาร ทำความร้อน และให้แสงสว่าง แทบทุกครัวเรือนทั่วโลก ก่อให้เกิดฝุ่นควันขนาดจิ๋วจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไหม้แบบที่ก่อให้เกิดเปลวไฟ ไม่ว่าจะเป็น การก่อฟืนทำอาหาร การใช้ไฟโดยตรงในการหุงต้ม การปิ้งย่างอาหารที่ควันโขมง

การทำความร้อนด้วยเตาผิง ก่อกองไฟ หรือในเขตห่างไกลที่มีการจุดไฟ คบเพลิง เทียนขนาดใหญ่ เพื่อให้แสงสว่าง

การเผาใบไม้ใบหญ้า เผาขยะในครัวเรือน รวมไปถึงการเผาสิ่งต่าง ๆ ตามความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือการละเล่นต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยก่อมลพิษทางอากาศทั้งสิ้น

โดยจากสถิติแล้วคนจำนวนถึงกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก ยังคงใช้เชื้อเพลิงประเภทเผาไหม้เช่นนี้กันอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน


แม้ว่าที่มาของฝุ่นพิษอันดับ 2 จะเป็นภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งเราทราบกันดีจากภาพปล่องควัน ปล่องไฟ และฝุ่นที่เกิดขึ้นจากสถานที่ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน แต่ในส่วนนี้ก็มีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไม่สะอาด อย่างถ่านหินรวมอยู่ด้วย และประชาชนก็เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าเหล่านี้เอง


อันดับ 3 ที่ตามมาติด ๆ ก็คือ การใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันของพวกเรา ซึ่งการที่ในหลายประเทศมีความต้องการและกำลังซื้อรถส่วนตัวใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยิ่งทำให้มลพิษมีเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน


อันดับถัดมา คือ เกษตรกรรม โดยเฉพาะปศุสัตว์หรือสัตว์ที่เลี้ยงไว้ให้พวกเราทานเนื้อ ที่ก่อมลพิษไม่หย่อนไปกว่ากัน

ทว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่วิธีการเลี้ยงและการจัดการของฟาร์มเป็นหลัก แต่พื้นฐานของปศุสัตว์นั้นก่อให้เกิดก๊าซพิษประเภทมีเทน แอมโมเนีย และโอโซน จากมูลสัตว์จำนวนมากอยู่แล้ว

อีกส่วนหนึ่งคือการเผาป่าเผาหญ้าเพื่อการเกษตร ซึ่งพบเห็นได้ในช่วงเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกทั่วไป


สิ่งที่สร้างมลพิษติดอันดับห้า คือ การจัดการขยะ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า แม้ในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ก็ยังมีการเผาเพื่อกำจัดขยะอยู่

หรือถึงแม้จะใช้วิธีการอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่แค่การจัดเก็บขยะไปรวมรวบไว้ในที่ทิ้งขยะ ก็เกิดก๊าซพิษจำนวนมากที่ลอยขึ้นสู่อากาศแล้ว และพัดไปมาเป็นอากาศที่เราหายใจอยู่ดี


แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร?


เมื่อเราทราบว่า ปัญหาแท้จริงแล้วก็เริ่มมาจากตัวเราเองไม่ใช่น้อย เราก็ต้องมาปรับเปลี่ยนชีวิตกันทีละจุด

เริ่มจากลดการเผาไหม้ต่าง ๆ ในครัวเรือน โดยทำอาหารที่ก่อมลพิษจากควันจากการเผาไหม้ เช่น ปิ้ง ย่าง หรือผัด ให้น้อยลง

เปลี่ยนการทำอาหารและการทำความร้อนที่ก่อมลพิษอย่างการก่อฟืนไฟ เตาแก๊ส เตาผิง ให้เป็นระบบอื่น เช่น ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กฯ หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ


ลดการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันลง หันไปใช้ขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือหากเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานทดแทนที่กำลังมีหลายยี่ห้อแล้วได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก อาจคิดถึงเรื่องการเดินหรือปั่นจักรยานแทนหากระยะทางไม่ไกลมาก แต่หากจำเป็นต้องใช้รถจริง ๆ ก็ลองถามไถ่เพื่อนพี่น้องดูว่ามีใครอยากร่วม Car Pool หรือ ไปทางเดียวกัน ติดรถไปด้วยกัน บ้างไหมก็ดี


ในส่วนของปศุสัตว์ การแก้ไขอาจเป็นปัญหากับคนทานเนื้อสัตว์ไม่น้อย แต่เราอาจไม่ต้องถึงขั้นหักดิบเปลี่ยนเป็นวีแกน แค่ลองทานมังสวิรัติหรือทานเจสักสัปดาห์ละครั้งก็พอ จริง ๆ แล้วก็ดีต่อสุขภาพด้วย แค่นี้ปริมาณปศุสัตว์ที่จำเป็นต้องเลี้ยงเพื่อออกสู่ตลาดก็ลดลงมากแล้ว


และการจัดการขยะ ก็ต้องเริ่มจากการไม่เพิ่มปริมาณขยะ รู้จักซ่อมแซมสิ่งของ นำสิ่งที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ใหม่ โดยเฉพาะพลาสติก หรือรีไซเคิลให้มากขึ้น เช่น การเตรียมกล่องข้าว ปิ่นโต จานชามส่วนตัว ไปใช้ใส่อาหารแทนถ้วยโฟมและถุงร้อน หรือการใช้ขวดน้ำและแก้วส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก ที่เราทำกันได้ง่าย ๆ อยู่แล้ว แถมยังดูเก๋ดูคูลอีกด้วย


จึงเป็นที่มาว่าทำไมปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรทั่วโลก จึงกำหนด วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) 2019 ปีนี้ ให้เราช่วย #BeatAirPollution หรือ #กำจัดฝุ่นพิษ


เพราะหากเรายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สถานการณ์ฝุ่นพิษก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

ถ้าถึงเวลาที่มันอันตรายมากจนเราหายใจปกติไม่ได้แล้ว เราจะอยู่กันอย่างไร?

เวลาจะออกนอกบ้านทีหนึ่ง ทุกคนในครอบครัวต้องสวมหน้ากาก ซึ่งหน้ากากอนามัยทั่วไปก็กันอะไรไม่ได้ ต้องเป็นหน้ากากกัน PM2.5 เท่านั้น และต้องเปลี่ยนใหม่เป็นประจำ เดือนหนึ่งจะต้องเสียเงินไปกี่พัน?

และถึงจุดนี้ฝุ่นพิษก็ตามเข้ามาถึงในบ้านแล้ว เราจะต้องเสียค่าเครื่องฟอกอากาศ และเปลี่ยนไส้กรองทุกเดือน ไปมากถึงเท่าไหร่?

แต่ที่สำคัญกว่าเงิน ก็คือ ไม่มีอะไรกันได้ 100% และสุขภาพที่จะเสียไปนั้นซื้อด้วยเงินไม่ได้


ฉะนั้นแล้ว มาช่วยกันเถอะครับ!

ยังไม่สายเกินไป เพราะเมื่อมันเริ่มจากตัวเรา ก็คงไม่ยากเกินไปที่จะลดจากตัวเราเช่นกัน


การเปลี่ยนอะไรเพียงเล็กน้อยของเราคนหนึ่ง

-ก็สามารถ-

สร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้



Comments


bottom of page